การนวดไทย
การ
นวดไทย หรือหัตถเวชกรรมไทย เป็นศาสตร์และศิลป์อีกแขนงหนึ่งที่สำคัญ
ของหลักวิชาการแพทย์แผนไทย ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
การนวดไทยในปัจจุบัน เป็นภูมิปัญญาไทย ที่ได้ผ่านการบูรณาการ
ร่วมกับองค์ความรู้ของศาสตร์การแพทย์ ในระบบการแพทย์อื่นๆ
จนพัฒนาเป็นการนวดไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศ และในระดับนานาชาติ
การ
นวดไทยเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการตรวจ การวินิจฉัย การบำบัด การส่งเสริม
และการฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การดัด การดึง การประคบ
และการอบ ทั้งนี้ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทย การประคบสมุนไพร การอบสมุนไพร
รวมทั้ง กายบริหารฤๅษีดัดตน ก็จัดเป็นองค์ความรู้ในวิชาการนวดไทยด้วย
การ
นวดไทยอาจแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้เป็น ๒ ประเภท คือ การนวดเพื่อผ่อนคลาย
และการนวดเพื่อบำบัดรักษา
การนวดเพื่อผ่อนคลายเป็นการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
ส่วนการนวดเพื่อบำบัดรักษา เป็นการนวดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ
ในการบำบัดโรค หรือรักษาผู้ป่วย เช่น นวดแก้สะบักจม นวดแก้คอเคล็ด
นอก
จากนั้นการนวดไทยยังอาจมีลีลาวิธีการนวดแตกต่างกันไป ๒ แบบ คือ
การนวดแบบราชสำนัก และการนวดแบบเชลยศักดิ์
การนวดแบบราชสำนักแต่เดิมเป็นการนวด เพื่อถวายพระมหากษัตริย์
และเจ้านายชั้นสูง ในราชสำนัก การถ่ายทอดวิธีการนวดแบบนี้
ต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้เรียน อย่างละเอียดถี่ถ้วน มีขั้นตอนในการสอน
โดยเน้นที่จรรยามารยาทในการนวด ปัจจุบัน
นำมาใช้บำบัดโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
ส่วนการนวดแบบเชลยศักดิ์หรือแบบทั่วไป เป็นการนวดแบบสามัญชน
ใช้การสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยการฝึกฝนและการบอกเล่า
มีแบบแผนการนวดตามวัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมของครูนวด
แต่เดิมการถ่ายทอดศาสตร์การนวดไทยแบบนี้ มักสอน
และเรียนกันตามบ้านของครูนวด แต่ปัจจุบันมีการเรียนการสอนกันทั่วไป
ตามสถาบันการศึกษา หรือสถาบัน ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย
ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยนั้น ร่างกายคนเราประกอบด้วย "เส้น" หรือ "เอ็น" หรือ "เส้นเอ็น" จำนวนมาก ภายในเส้นเหล่านี้จะเป็นทางไหลเวียนของ "เลือด" และ "ลม"
ซึ่งในภาวะปกติจะไหลเวียนอย่างสมดุล
หากมีการอุดกั้นหรือขัดขวางการไหลเวียนของเลือด และลม ดังกล่าว
ก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยและมีอาการผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ปวดเมื่อย
มึนงง ท้องอืดเฟ้อ แพทย์แผนไทยก็จะบำบัดความเจ็บป่วยหรืออาการต่างๆ
ด้วยการใช้ยา หรือด้วยการนวด โดยการกด คลึง บีบ ดัด และดึง
ตามจุดและเส้นที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เลือดและลมไหลเวียนเป็นปกติ
๑. เส้นประธานสิบ
เป็น
เส้นหลักที่สำคัญของร่างกาย มีรวม ๑๐ เส้น เส้นประธานทั้ง ๑๐ เส้น
มีจุดเริ่มต้นบริเวณรอบๆ สะดือ แล้วแยกกันไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ไปสิ้นสุด ที่อวัยวะต่างๆ ได้แก่เส้นดังต่อไปนี้
๑) เส้นอิทา
เป็น
เส้นประธานที่เริ่มจากบริเวณสะดือ แล่นลงไปบริเวณหัวเหน่า
ลงไปตามต้นขาข้างซ้าย จนถึงหัวเข่า
แล้วเลี้ยวขึ้นไปแนบแนวกระดูกสันหลังด้านซ้าย แล่นกระหวัดขึ้นบนศีรษะ
แล้วกลับมาสิ้นสุดที่จมูกด้านซ้าย
๒) เส้นปิงคลา
เป็น
เส้นประธานที่มีทางเดินเริ่มจากบริเวณสะดือ แล่นลงไปบริเวณหัวเหน่า
ลงไปตามต้นขาข้างขวาจนถึงหัวเข่า
แล้วเลี้ยวขึ้นไปแนบแนวกระดูกสันหลังด้านขวา แล่นกระหวัดขึ้นบนศีรษะ
แล้วกลับมาสิ้นสุดที่จมูกด้านขวา
๓) เส้นสุมนา
เริ่มจากบริเวณสะดือ แล้วแล่นตรงขึ้นไปในทรวงอก ขั้วหัวใจ ขึ้นไปตามลำคอ สิ้นสุดที่โคนลิ้น
๔) เส้นกาลทารี
เริ่ม
จากบริเวณสะดือ แล้วแยกออกเป็น ๔ เส้น โดย ๒ เส้นขึ้นไปตามสีข้าง ต้นแขน
ต้นคอ ศีรษะ แล้ววกกลับลงมาตามแนวหลังแขนทั้ง ๒ ข้าง
จากนั้นแยกออกไปตามนิ้วมือทั้ง ๒ ข้าง อีก ๒ เส้น
ลงไปตามหน้าแข้งจนถึงข้อเท้า แล้วแตกออกไปตามนิ้วเท้าทั้ง ๒ ข้าง
๕) เส้นสหัศรังสี
เริ่ม
จากบริเวณสะดือ ลงไปต้นขาและแข้งด้านใน ตลอดไปจนถึงฝ่าเท้า
ผ่านต้นนิ้วเท้าซ้ายทั้ง ๕ นิ้ว
แล้วย้อนกลับขึ้นมาตามหน้าแข้งของขาข้างซ้าย ไปเต้านมซ้าย เข้าไปใต้คาง
ลอดขากรรไกรข้างซ้าย ไปสิ้นสุดที่ตาข้างซ้าย
๖) เส้นทวารี
เริ่ม
จากบริเวณสะดือ ลงไปต้นขาและแข้งด้านใน ตลอดไปจนถึงฝ่าเท้า
ผ่านต้นนิ้วเท้าขวาทั้ง ๕ นิ้ว แล้วย้อนกลับขึ้นมาตามหน้าแข้งของขาข้างขวา
ไปเต้านมขวา เข้าไปใต้คาง ลอดขากรรไกรข้างขวา ไปสิ้นสุดที่ตาข้างขวา
๗) เส้นจันทะภูสัง
เริ่มจากบริเวณสะดือ ขึ้นไปราวนมข้างซ้าย ผ่านไปที่คอ คาง และไปสิ้นสุดที่หูข้างซ้าย
๘) เส้นรุชำ
ที่เริ่มจากบริเวณสะดือ ขึ้นไปราวนมข้างขวา ผ่านไปที่คอ คาง และไปสิ้นสุดที่หูขวา
๙) เส้นสุขุมัง
เริ่มจากบริเวณสะดือ ไปสิ้นสุดที่ทวารหนัก
๑๐) เส้นสิกขินี
เริ่มจากบริเวณสะดือ ไปที่หัวเหน่า ทวารเบา และสิ้นสุดที่อวัยวะเพศ
๒. การประคบสมุนไพร
การ
ประคบสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาไทยในการดูแลสุขภาพวิธีหนึ่ง
ซึ่งนอกจากจะแก้ปวดเมื่อยในสตรีหลังคลอดลูก และช่วยแก้นมคัด
ทำให้น้ำนมเดินสะดวก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในหัวข้อการผดุงครรภ์ไทย
การประคบสมุนไพรยังมักใช้คู่กับการนวดไทย โดยมักใช้หลังการนวด
เพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อพังผืดยืดตัวออก ลดการติดขัดของข้อต่อ ลดอาการปวด
ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และช่วยลดการบวม
อันเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ
สมุนไพรที่ใช้
เตรียมเป็นลูกประคบได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ผิวมะกรูด ใบมะขาม
ใบส้มป่อย เถาเอ็นอ่อน การบูร และพิมเสน โดยมีไพลกับการบูรเป็นตัวยาสำคัญ
ที่ขาดไม่ได้ ตัวยาที่เป็นส่วนของพืชจะใช้ของสด เพราะให้ผลดีกว่าใช้ของแห้ง
วิธีการเตรียมลูกประคบ ทำได้โดยการเอาตัวยาสมุนไพรมาตำรวมกันพอแหลก
ใส่การบูร และพิมเสน ลงไปคลุกเคล้ากัน ห่อผ้าขาว รัดด้วยเชือกให้แน่น
เมื่อ
จะใช้ให้เอาลูกประคบวางไว้บนปากหม้อดินที่มีไอน้ำร้อน
จนลูกประคบร้อนตามต้องการ แล้วใช้ประคบหลังการนวด หรือสลับกับการนวด
ในกรณีแก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกใช้ประคบหลังการนวด ซึ่งอาจทำ ๑ วัน เว้น ๒
วัน ส่วนกรณีใช้กับสตรีหลังคลอดลูก ใช้ลูกประคบ ๓ ลูก โดยนั่งทับ ๑ ลูก อีก
๒ ลูก ใช้ประคบตามร่างกาย และเต้านม ประคบทุกวันจนนมหายคัด
ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง ๗ วัน
๓. การอบสมุนไพร
การอบ
สมุนไพรเป็นการดูแลสุขภาพตามภูมิปัญญาไทยอีกรูปแบบหนึ่ง
ซึ่งนอกจากจะใช้กับสตรีหลังคลอดลูก เหมือนการประคบสมุนไพรแล้ว
ยังมักใช้ควบคู่กับการนวดไทย หลักการของการอบสมุนไพรคือ
การต้มสมุนไพรกับน้ำจนเดือด
เพื่อให้ไอน้ำหรือน้ำมันหอมระเหยสัมผัสกับผิวหนัง และเข้าสู่ร่างกาย
โดยทางผิวกายและการหายใจ ไอน้ำร้อนจะช่วยเพิ่มการไหลเวียน
ของเลือดในร่างกาย ช่วยขยายรูขุมขน ทำให้ร่างกายขับเหงื่อและของเสียต่างๆ
ออกจากร่างกาย ทำให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้น
ละลายเสมหะและทำให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยลดการอักเสบและบวม
ของเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนต้น และช่วยลดการระคายเคืองในลำคอ
สมุนไพรที่ใช้ในการอบสมุนไพรแบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม คือ
(๑)
กลุ่มมีน้ำมันหอมระเหย เช่น ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ข่า กระทือ ว่านน้ำ
ตะไคร้ กะเพรา ใบหนาด ช่วยให้จมูกโล่ง ขยายหลอดลม และฆ่าเชื้อบางชนิด
(๒) กลุ่มมีรสเปรี้ยว ซึ่งมักมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ เช่น ใบมะขาม ใบส้มป่อย มะกรูด ช่วยชำระสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง
(๓) กลุ่มสารระเหิดแล้วมีกลิ่นหอม เช่น พิมเสน การบูร ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และแก้โรคผิวหนังบางชนิด
(๔) กลุ่มที่ใช้เพื่อการบำบัดเฉพาะโรคหรืออาการ เช่น ผักบุ้งขัน เหงือกปลาหมอ ผักชีล้อม สำหรับแก้โรคผิวหนัง
สำหรับ
สตรีหลังคลอดลูก การอาบหรืออบสมุนไพร จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
และช่วยขับน้ำคาวปลา เมื่อใช้ร่วมกับการนวดไทย
จะช่วยแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ และช่วยคลายเครียด
การอบสมุนไพรยังใช้ร่วมกับการนวด ในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยอัมพฤกษ์
หรืออัมพาตได้ดี นอกจากนั้น การอบสมุนไพรยังอาจช่วยควบคุมน้ำหนัก
ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดอาการเซื่องซึมในผู้ติดยาเสพติด ทั้งนี้
การใช้สมุนไพรบางครั้งอาจใช้ทั้งอบและอาบ ซึ่งจะให้ผลรวดเร็วขึ้น
๔. ฤๅษีดัดตน
ฤๅษี
ดัดตนเป็นกายบริหารอันเป็นภูมิปัญญาไทยแขนงหนึ่ง
อาจจัดอยู่ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการนวดไทย
เนื่องจากใช้หลักการดัดส่วนต่างๆ ของร่างกาย และการบริหารลมหายใจเป็นหลัก
โดยอาจมีการนวดผสมผสานอยู่ด้วย ในบางท่า กายบริหารแบบฤๅษีดัดตนมีท่าต่างๆ
ที่ครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว
ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า จึงช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรง
มีสุขภาพดี ลดความตึงของเอ็น ประสาท และกล้ามเนื้อ
ช่วยให้การเคลื่อนไหวของร่างกายคล่องแคล่ว จิตใจสบาย คลายความตึงเครียด
ดัง
ที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อบูรพาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทยว่า
ฤๅษีเป็นนักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือน ออกไปบำเพ็ญพรต
เพื่อแสวงหาความสุขสงบตามป่าเขา ด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนา
การนั่งสมาธิอยู่เป็นเวลานานๆ ทำให้มีอาการปวดเมื่อย การไหลเวียนของ "เลือด" และ "ลม"
ตามเส้นต่างๆ เกิดติดขัด จนเกิดโรค และอาการต่างๆ ตามมา
การดัดตนจึงช่วยบรรเทา ผ่อนคลาย และฟื้นฟูสมรรถนะ ของร่างกายให้เป็นปกติ
ศาสตร์ฤๅษีดัดตนของไทยอาจมีส่วนที่คล้ายกับศาสตร์โยคะ ของอินเดีย
แต่ท่าฤๅษีดัดตนของไทยส่วนใหญ่เป็นท่าที่สุภาพ ไม่ผาดโผน หรือฝืนตน
จนรุนแรงเกินไป ท่าดัดตนของไทยเหล่านี้มักเป็นท่าดัดตามอิริยาบถของคนไทย
ซึ่งสามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ง่าย
ประวัติความเป็นมาของกายบริหาร
แบบฤๅษีดัดตนที่ปรากฏนั้น เริ่มเมื่อครั้งที่
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม
(ปัจจุบันคือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมตำรายา และรูปปั้นฤๅษีท่าดัดตน
เพื่อเป็นวิทยาทานแก่พสกนิกร แต่รูปปั้นที่จัดสร้างในคราวนั้น ปั้นด้วยดิน
จึงเสียหาย เสื่อมโทรมไปได้ง่าย ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๓๗๙
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้หล่อรูปฤๅษีดัดตนด้วยชิน (สังกะสีผสมดีบุก) จำนวน ๘๐ ท่า
ตั้งไว้ตามศาลาราย ให้บุคคลต่างๆ ร่วมแต่งโคลงสี่สุภาพ บรรยายวิธีดัดตน
และประโยชน์ จารึกไว้ประกอบท่าฤๅษีดัดตนแต่ละท่าที่ปั้นไว้
โดยพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ด้วย ๖ บท
การปั้นท่ากายบริหารเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพโดยใช้ "ฤๅษี"
เป็นแบบนั้น เพราะคนไทยล้วนรู้ว่า ฤๅษีเป็นผู้บำเพ็ญศีลภาวนา
ท่าทางที่ฤๅษีบริหารร่างกายจึงน่าเชื่อถือ และน่าจะได้ผลดี
อีกทั้งศาสตร์ต่างๆ ของไทยเคารพนับถือฤๅษีเป็นครู การใช้ฤๅษีเป็นแบบ
จึงเป็นอุบายที่แยบคาย เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และความขลัง
จาก โครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่มา : http://health4friends.lnwshop.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น