วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เวชกรรมไทย

เวชกรรมไทย

เวชกรรม ไทยเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในหลักวิชาการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยทุกคนต้องมีความรู้ด้านเวชกรรมไทย จึงจะประกอบวิชาชีพรักษาผู้ป่วยได้ โดยต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักความรู้ ๔ ประการ ได้แก่ รู้สาเหตุของโรค รู้ชื่อโรค รู้ยาสำหรับแก้โรค และรู้ว่ายาใดสำหรับแก้โรคใด ในหลักความรู้นี้ แพทย์แผนไทยต้องมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรค ซึ่งในตำราการแพทย์แผนไทยเรียก "สมุฏฐานแห่งโรค" เป็นเบื้องต้นเสียก่อน จึงจะรู้ชื่อโรค และรู้ยาสำหรับแก้โรค

คำว่า สมุฏฐาน แปลว่า ที่แรกตั้งหรือที่แรกเกิด ดังนั้น "สมุฏฐานแห่งโรค" จึงหมายถึง ที่แรกเกิดแห่งโรค หรือสาเหตุของโรค แพทย์ในสมัยโบราณมักเรียกโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยรวมว่า "ไข้" ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยนั้น ความเจ็บป่วยนั้นเกิดจากสาเหตุ ๕ ประการ ได้แก่ ธาตุสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน กาลสมุฏฐาน และประเทศสมุฏฐาน

๑. ธาตุสมุฏฐาน

หลัก วิชาการแพทย์แผนไทยระบุว่าธาตุทั้ง ๔ เป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของมนุษย์ และเป็นสาเหตุของโรค ธาตุทั้ง ๔ นี้ ได้แก่ ธาตุดิน (หรือปถวีธาตุ) ธาตุน้ำ (หรืออาโปธาตุ) ธาตุลม (หรือวาโยธาตุ) และธาตุไฟ (หรือเตโชธาตุ) แต่บางตำราว่า ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยธาตุ ๕ อย่าง โดยมี "อากาศธาตุ" เพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง

๑) ธาตุดิน

เป็นองค์ประกอบของร่างกายที่เป็นโครงสร้าง ซึ่งอธิบายได้ว่า "มีคุณสมบัติไปในทางแข็ง อยู่นิ่ง คงตัว เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ร่างกายคงรูปอยู่ได้" ซึ่งน่าจะหมายถึง "อวัยวะที่ประกอบกันเป็นร่างกาย" แพทย์แผนไทยแบ่งอวัยวะของร่างกาย ที่อยู่ในประเภทธาตุดินออกเป็น ๒๐ อย่าง อาทิ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ไขกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด

๒) ธาตุน้ำ

เป็น องค์ประกอบของร่างกายที่เป็นของเหลว มีคุณสมบัติซึมซาบ ทำให้อ่อนตัว เป็นตัวกลางที่ทำให้สิ่งต่างๆ ไหลเวียนไปได้ ธาตุน้ำในร่างกายแบ่งออกเป็น ๑๒ อย่าง อาทิ น้ำดี เสมหะ หนอง เลือด เหงื่อ น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก น้ำปัสสาวะ

๓) ธาตุลม

เป็น พลังผลักดันภายในระบบของร่างกาย และมีการเคลื่อนไหวหมุนเวียน ธาตุลมแบ่งออกเป็น ๖ ประเภท ได้แก่ ลมพัดขึ้น (คือ ลมที่พัดตั้งแต่ปลายเท้าตลอดถึงศีรษะ และจากกระเพาะอาหารตลอดลำคอ เช่น ลมหาว ลมเรอ) ลมพัดลง (เป็นลมที่พัดตั้งแต่ ศีรษะตลอดปลายเท้า และตั้งแต่ลำไส้เล็กลงไปถึงทวารหนัก เช่น ลมผาย) ลมในท้อง (เป็นลมที่พัดอยู่ภายในช่องท้อง นอกลำไส้) ลมในลำไส้ (เป็นลมที่พัดอยู่ในกระเพาะอาหาร และในลำไส้) ลมหายใจเข้า และลมหายใจออก

๔) ธาตุไฟ

เป็น พลังที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น เกิดพลังความร้อนและการเผาไหม้ ธาตุไฟแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ ไฟสำหรับอบอุ่นร่างกาย (เป็นไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นเป็นปกติ) ไฟร้อนระส่ำระสาย (เป็นกำลังความร้อนของอากาศภายนอกที่ทำให้เราต้องอาบน้ำ และต้องพัดวี) ไฟสำหรับเผาผลาญร่างกายให้แก่เฒ่า (เป็นไฟที่ทำให้ร่างกายและผิวหนัง ซูบซีดเหี่ยวแห้ง ทรุดโทรม ทุพพลภาพไป) และไฟสำหรับย่อยอาหาร (เป็นไฟที่ทำให้อาหารที่กลืนลงไปแหลกละเอียด)

ธาตุเหล่านี้จะ ต้องอยู่อย่างสมดุล หากมีธาตุใดธาตุหนึ่งน้อยไป มากไป หรือผิดปกติไป ก็จะทำให้เกิดโรค แพทย์แผนไทยเรียกภาวะที่ธาตุน้อยไปว่า "หย่อน" เรียกภาวะที่ธาตุมากไปว่า "กำเริบ" และเรียกภาวะที่ธาตุผิดปกติไปว่า "พิการ" เมื่อรู้ว่าธาตุใดหย่อน กำเริบ หรือพิการ ก็จะให้ยาแก้ได้

๒. อุตุสมุฏฐาน

ฤดู เป็นสาเหตุของโรค ฤดูหนึ่งๆ ย่อมผันแปรไปตามเดือนและวัน ตลอดจนดินฟ้าอากาศ ในคราวที่เปลี่ยนฤดู หากธาตุทั้ง ๔ ของร่างกายมนุษย์เปลี่ยนแปลงตามไม่ทัน อาจทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ตำราการแพทย์แผนไทยมักจำแนกฤดูเป็นปีละ ๓ ฤดู (แต่บางตำราอาจจำแนกเป็นปีละ ๔ ฤดู หรือปีละ ๖ ฤดู)

ฤดู ๓ ฤดู ได้แก่ 

คิมหันตฤดู
(ฤดูร้อน)

นับ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ รวม ๔ เดือน ฤดูนี้อากาศร้อน เมื่อสัมผัสหรือกระทบถูกความร้อนจะเป็นธรรมดา เมื่อมีฝน หรืออากาศหนาวเจือมา ก็จะเกิดโรค

วสันตฤดู
(ฤดูฝน)

นับ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๔ เดือน ฤดูนี้ร่างกายสัมผัสความเย็นจากฝนอยู่เป็นปกติ เมื่อมีอากาศหนาว และอากาศร้อนเจือมา ก็จะเกิดความเจ็บป่วย และ

เหมันตฤดู (ฤดูหนาว)

นับ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ รวม ๔ เดือน ฤดูนี้ร่างกายสัมผัสอากาศหนาวอยู่ เมื่อกระทบฝนหรืออากาศร้อนเจือมา ก็จะเกิดความเจ็บป่วย

๓. อายุสมุฏฐาน

อายุ หรือวัยเป็นสาเหตุของโรค แพทย์แผนไทยแบ่งอายุของคนเราไว้เป็น ๓ ช่วงด้วยกัน ได้แก่ ปฐมวัย (วัยแรกเริ่ม) นับตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๖ ปี แบ่งเป็น ๒ ตอน คือ ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ ๘ ขวบ ตอนหนึ่งและตั้งแต่อายุ ๘ ขวบถึง ๑๖ ปี  อีกตอนหนึ่งมัชฌิมวัย (วัยกลาง) นับตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี จนถึงอายุ ๓๒ ปี และ ปัจฉิมวัย (วัยปลาย) นับตั้งแต่อายุ ๓๓ ปี จนถึง ๖๔ ปี โดยหลักวิชาการแพทย์แผนไทยได้กำหนดโรค และสาเหตุของโรค ที่อาจเกิดในช่วงวัยต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรค ตลอดจนการกำหนดตัวยา สำหรับบำบัดโรค

๔. กาลสมุฏฐาน

เวลาเป็นสาเหตุแห่งโรค แพทย์แผนไทยแบ่งเวลาในวันหนึ่งๆ ออกเป็น ๔ ยาม ยามละ ๓ ชั่วโมง โดยกลางวันและกลางคืนมี ๔ ยามเท่ากัน คือ

ยาม ๑ (กลางวัน ๐๖.๐๐ - ๐๙.๐๐ น. กลางคืน ๑๘.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.)
ยาม ๒ (กลางวัน ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. กลางคืน ๒๑.๐๐ - ๒๔.๐๐ น.)
ยาม ๓ (กลางวัน ๑๒.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. กลางคืน ๒๔.๐๐ - ๐๓.๐๐ น.)
และยาม ๔ (กลางวัน ๑๕.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. กลางคืน ๐๓.๐๐ - ๐๖.๐๐ น.) 

ตาม หลักวิชาการแพทย์แผนไทยกำหนดโรค และสาเหตุของโรค ที่อาจเกิดในช่วงเวลา (ยาม) ต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรค และการกำหนดตัวยาสำหรับบำบัดโรค


๕. ประเทศสมุฏฐาน

สถาน ที่เกิดและที่อยู่ก็เป็นสาเหตุแห่งโรคได้ เนื่องจากภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่เกิด ที่อยู่ มีความแตกต่างกัน รวมทั้งการสัมผัสเคยชินในถิ่นดั้งเดิมและถิ่นใหม่ ย่อมแตกต่างกันไป ในแต่ละคน เช่น หนาว เย็น ร้อน อบอุ่น ชื้นแฉะ ทำให้ธาตุสมุฏฐานแปรปรวนไปด้วย เมื่อย้ายถิ่นฐานภูมิลำเนา ย่อมทำให้ผิดอากาศ ผิดน้ำ เนื่องจากคนคนนั้น ยังไม่คุ้นเคยกับภูมิลำเนาใหม่ ทำให้เจ็บไข้ได้ง่าย ละอองหญ้าแห้ง และกลิ่นไอปฏิกูลเน่าเหม็น ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดโทษได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ หลักวิชาการแพทย์แผนไทย จึงได้จำแนกภูมิประเทศเป็นแบบต่างๆ ได้เป็น ๔ แบบ คือ ภูมิประเทศร้อน (บุคคลเกิดในที่สูง เนินเขา และป่าดอน) ภูมิประเทศเย็น (บุคคลเกิดในที่ลุ่มน้ำจืด น้ำฝน เปือกตม) ภูมิประเทศอุ่น (บุคคลเกิดในที่น้ำเป็นกรวดทราย) และภูมิประเทศหนาว (บุคคลที่เกิดในที่ลุ่มน้ำเค็ม เปือกตม) เพื่อให้แพทย์ได้สังเกตไว้ประกอบการวินิจฉัยโรค และกำหนดตัวยาสำหรับแก้โรค

จาก โครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่มา : http://health4friends.lnwshop.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น