เภสัชกรรม ไทยเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ในหลักวิชาการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยทุกคนต้องมีความรู้ในด้านนี้ จึงสามารถประกอบวิชาชีพรักษาผู้ป่วยได้
ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทย ผู้เป็นแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในหลักความรู้ ๔ ประการ อันได้แก่ เภสัชวัตถุ สรรพคุณเภสัช คณาเภสัช และเภสัชกรรม
๑. เภสัชวัตถุ
หมายถึง วัตถุนานาชนิดที่นำมาใช้เป็นยาบำบัดโรค ซึ่งอาจจำแนกตามแหล่งที่มาของวัตถุที่นำมาใช้เป็นยานั้น เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ
พฤกษวัตถุ ได้แก่ พรรณพฤกษชาตินานาชนิด ทั้งประเภทต้น ประเภทเถาหรือเครือ ประเภทหัว ประเภทผัก ประเภทหญ้า ประเภทพืชพิเศษ (เห็ดและพืชชั้นต่ำอื่นๆ)
สัตววัตถุ ได้แก่ สัตว์นานาชนิดที่ทั้งตัว หรือเพียงบางส่วน นำมาใช้เป็นเครื่องยา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ สัตว์บก หรือสัตว์อากาศ (สัตว์ที่บินได้) และ
ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องยา ทั้งที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ หรือที่ประสมขึ้น
ตำรา การแพทย์แผนไทยระบุไว้ว่า สรรพวัตถุที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนเกิดแต่ธาตุทั้ง ๔ และย่อมใช้เป็นยาบำบัดโรคได้ทั้งสิ้น แต่จะมีสรรพคุณมากน้อยกว่ากันอย่างไร ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุนั้นๆ แพทย์ผู้ปรุงยาจึงต้องรู้จักตัวยาใน ๕ ประการ ได้แก่
ก. รู้จักรูปยา
คือ รู้ว่าเครื่องยาที่ใช้เป็นอะไร เป็นส่วนใดของพืช เช่น ใบ ดอก ผล เปลือก กระพี้ แก่น ราก หรือเป็นส่วนใดของตัวสัตว์ เช่น ขน หนัง เขา กระดูก กีบ นอ งา เขี้ยว ฟัน กราม ดี หรือเป็นของที่เกิดแต่ธรรมชาติ เช่น เกลือ เหล่านี้จึงจัดว่า รู้จักรูปยา
ข. รู้จักสียา
คือ รู้จักสีของเครื่องยา รู้ว่าเครื่องยาอย่างนี้มีสีขาว สีเหลือง สีเขียว หรือสีดำ เช่น รู้ว่าการบูรมีสีขาว รงทองมีสีเหลือง จุนสีมีสีเขียว ฝางเสนมีสีแสดแดงหรือสีแดงแสด ยาดำมีสีดำ เหล่านี้จึงจะจัดว่า รู้จักสียา
ค. รู้จักกลิ่นยา
คือ รู้จักกลิ่นของเครื่องยา รู้ว่าอย่างนี้มีกลิ่นหอม อย่างนี้มีกลิ่นเหม็น เช่น พิมเสน หญ้าฝรั่น อำพันทอง กฤษณา กระลำพัก ชะลูด อบเชย ขอนดอก มีกลิ่นหอม ยาดำ มหาหิงคุ์ มีกลิ่นเหม็นเหล่านี้จึงจัดว่า รู้จักกลิ่นยา
ง. รู้จักรสยา
คือ รู้จักรสของเครื่องยา รู้ว่ายาอย่างนี้มีรสจืด รสฝาด รสหวาน รสเบื่อเมา รสขม รสมัน รสเย็น รสเค็ม รสเปรี้ยว เช่น กำมะถันมีรสจืด เบญกานีมีรสฝาด ชะเอมมีรสหวาน เมล็ดสะบ้ามีรสเบื่อเมา บอระเพ็ดมีรสขม พริกไทยมีรสเผ็ดร้อน เมล็ดงามีรสมัน ดอกมะลิมีรสหอมเย็น เกลือมีรสเค็ม มะขามเปียกมีรสเปรี้ยว เหล่านี้จึงจัดว่า รู้จักรสยา
จ. รู้จักชื่อยา
คือ รู้จักชื่อของเครื่องยา รู้ว่าชื่อยาอย่างนั้นอย่างนี้คืออะไร มีชื่อเรียกแตกต่างกัน ในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร จึงจัดว่า รู้จักชื่อยา
แพทย์ ผู้ปรุงยาต้องรู้จักเภสัชวัตถุในรายละเอียดทั้ง ๕ ประการนี้ จึงจะสามารถนำเอาเครื่องยาที่ถูกต้อง ตามที่ระบุไว้ในตำรับยา มาปรุงเป็นยาแก้โรคที่ต้องการได้
๒. สรรพคุณเภสัช
หมาย ถึง คุณสมบัติทางยาของเภสัชวัตถุที่กล่าวถึงข้างต้น ตามหลักวิชาเภสัชกรรมไทยระบุว่า ก่อนที่จะรู้สรรพคุณของยา จำเป็นต้องรู้รสของยาก่อน เนื่องจาก หลักวิชาการแพทย์แผนไทยกล่าวว่า รสของยาจะแสดงสรรพคุณยา ดังนั้น เมื่อรู้จักรสยาแล้ว ก็จะรู้จักสรรพคุณของยานั้นอย่างกว้างๆ ได้ ในเรื่องของรสยานี้ ตำราแบ่งออกเป็นรสประธาน ๓ รส คือ
ก. ยารสเย็น
ได้แก่ ยาที่ปรุงผสมด้วยเกสรดอกไม้ (ที่ไม่ร้อน) ใบไม้ รากไม้ (ที่ไม่ร้อน) สัตตเขา (เขาสัตว์ ๗ ชนิด ได้แก่ เขาวัว เขาควาย เขากระทิง เขากวาง เขาแกะ เขาแพะ และเขาเลียงผา) เนาวเขี้ยว (เขี้ยวสัตว์ ๙ ชนิด ได้แก่ เขี้ยวหมูป่า เขี้ยวหมี เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมาป่า เขี้ยวปลาพะยูน เขี้ยวจระเข้ เขี้ยวเลียงผา นอแรด และงาช้าง) และของที่เผา หรือสุมให้เป็นถ่าน เมื่อปรุงเป็นยาเสร็จแล้ว จะได้ยารสเย็น ใช้แก้โรคที่เกิดจากธาตุไฟ
ข. ยารสร้อน
ได้แก่ ยาที่ปรุงผสมด้วยเบญจกูล (ตัวยาที่มีรสร้อน ๕ อย่าง ได้แก่ ดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง และขิงแห้ง) ตรีกฏุก (ตัวยาที่มีรสร้อน ๓ อย่าง ได้แก่ ขิงแห้ง พริกไทย และดีปลี) หัสคุณ ขิง ข่า เมื่อปรุงเป็นยาเสร็จแล้ว จะได้ยาที่มีรสร้อน ใช้แก้โรคที่เกิดจากธาตุลม
ค. ยารสสุขุม
ได้แก่ ยาที่ปรุงผสมด้วยโกฐ เทียน กฤษณา กระลำพัก ชะลูด อบเชย ขอนดอก เมื่อปรุงเป็นยาแล้ว จะได้ยาที่มีรสสุขุม เช่น ยาหอม สำหรับแก้โรคทางโลหิต
รสประธานทั้ง ๓ รสนั้น แพทย์แผนไทยยังแบ่งย่อยออกได้เป็น ๙ รส คือ
(๑) รสฝาด สำหรับสมาน
(๒) รสหวาน สำหรับซึมซาบไปตามเนื้อ
(๓) รสเบื่อเมา สำหรับแก้พิษ
(๔) รสขม สำหรับแก้ทางโลหิต
(๕) รสเผ็ดร้อน สำหรับแก้ลม
(๖) รสมันสำหรับแก้เส้น
(๗) รสหอมเย็น สำหรับบำรุงหัวใจ
(๘) รสเค็ม สำหรับซึมซาบไปตามผิวหนัง และ
(๙) รสเปรี้ยว สำหรับกัดเสมหะ แต่ในตำรา เวชศึกษา (ตำราหลวง) ของพระยาพิศนุประสาทเวช ได้เพิ่ม รสจืด อีก ๑ รส รวมเป็น ๑๐ รส
ตำรา แพทย์แผนไทยสรุปว่า โรคที่เกิดจากปถวีธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสฝาด รสหวาน รสมัน รสเค็ม โรคที่เกิดจากอาโปธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสเปรี้ยว รสเบื่อเมา รสขม ส่วนโรคที่เกิดจากวาโยธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสสุขุม รสเผ็ดร้อน โรคที่เกิดจากเตโชธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสเย็น รสจืด และได้กำหนดตัวยาประจำธาตุต่างๆ ไว้ คือ ดีปลี ประจำปถวีธาตุ เถาสะค้าน ประจำวาโยธาตุ รากช้าพลู ประจำอาโปธาตุ รากเจตมูลเพลิง ประจำเตโชธาตุ และขิงแห้ง ประจำอากาศธาตุ
๓. คณาเภสัช
หมาย ถึง หมู่ยา กลุ่มยา เป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์ของไทย ในการจัดตัวยา หรือเภสัชวัตถุรวมกันไว้เป็นกลุ่มเป็นหมู่เป็นพวก เพื่อสะดวกในการจดจำ หรือสะดวกในการเขียนสูตรยา ตัวยาที่เข้าพวกกันนั้น ต้องมีรสและฤทธิ์ไปในทางเดียวกัน อาจเสริมฤทธิ์กัน ไม่ต้านกัน และใช้ในปริมาณเท่ากัน โดยอาจผูกชื่อเรียกเฉพาะ แต่เป็นที่เข้าใจกัน ในหมู่ผู้ที่ศึกษาวิชาการแพทย์แผนไทย เช่น ตรีผลา หมายถึง สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม หรือเรียกเป็นชื่อกลางๆ ของตัวยาที่อยู่ในหมู่นั้น เช่น ตรีสมอ หมายถึง สมอไทย สมอพิเภก และสมอเทศ คณาเภสัชแบ่งออกเป็น ๓ พวกใหญ่ๆ ได้แก่ จุลพิกัด พิกัดยา หรือพิกัดตัวยา และมหาพิกัด
ก. จุลพิกัด
เป็น การจำกัดตัวยาไว้น้อยชนิด โดยมากเป็น ๒ ชนิด แต่ที่เป็น ๑ หรือ ๓ ชนิดก็มี ตัวยาแต่ละอย่างใช้ในน้ำหนักเท่ากัน โดยพิกัดนี้มีชื่อร่วม หรือเหมือนกัน อาจแบ่งได้เป็น ๕ ประเภท คือ
(๑) ประเภทต่างถิ่นที่เกิด
(๒) ประเภทต่างสี
(๓) ประเภทต่างขนาด
(๔) ประเภทต่างเพศ
(๕) ประเภทต่างรส
ข. พิกัดยา หรือ พิกัดตัวยา
เป็น การจำกัดตัวยาไว้โดยใช้ชื่อเดียวกัน ใช้ในขนาดเท่าๆ กัน (เสมอภาค) เพื่อสะดวกแก่ผู้ตั้งตำรา ผู้คัดลอกตำรับยา และแพทย์ผู้ปรุงยา โดยมีชื่อเป็นคำศัพท์บ้าง มีชื่อโดยตรงของตัวยาบ้าง แบ่งเป็น ๗ ประเภท รวม ๘๑ พิกัด ตัวอย่างเช่น พิกัดเทวคันทา พิกัดตรีกฏุก พิกัดจตุวาตผล พิกัดเบญจโลกวิเชียร พิกัดโหราพิเศษ พิกัดโกฐทั้งเจ็ด พิกัดเทียนทั้งเก้า พิกัดเทศกุลาผล
ค. มหาพิกัด
เป็น การจำกัดตัวยาหลายๆ อย่างไว้เป็นหมู่เป็นพวกเดียวกัน แต่กำหนดส่วน หรือปริมาณโดยน้ำหนักของยาไว้มากน้อยต่างกัน ตามสมุฏฐานแห่งโรค โดยที่สัดส่วนของตัวยาทั้งหลาย จะเปลี่ยนไปตามรสประธานที่ต้องการ ซึ่งรสประธานของยานั้น จะขึ้นอยู่กับสมุฏฐานแห่งโรคว่า เกิดจากอะไร
๔. เภสัชกรรม (การปรุงยา หรือการประกอบยา)
หมาย ถึง การผสมตัวยาหรือเครื่องยาตั้งแต่ ๒ ชนิดขึ้นไปเข้าด้วยกัน ตามที่กำหนดไว้ในตำรับยา โดยในการปรุงยา แพทย์ต้องพิจารณาเรื่องสำคัญ ๓ เรื่อง คือ
ก. พิจารณาลักษณะของตัวยา
ต้อง พิจารณาว่า ในตำรับยาให้ใช้ส่วนใดของตัวยา เช่น พืชวัตถุ อาจใช้ส่วนเปลือกต้น ราก หรือดอก สัตววัตถุ อาจใช้กระดูก กระดอง หนัง หรือดี และธาตุวัตถุ อาจดิบ หรือต้องสะตุ (การทำให้เป็นผงบริสุทธิ์ด้วยการใช้ความร้อนจัด) หรือต้องแปรสภาพก่อน นอกจากนี้ ตัวยาในตำรับยาอาจให้ใช้สด หรือแห้ง อ่อนหรือแก่ เนื่องจากสรรพคุณจะแตกต่างกัน เช่น ขิงสด ขิงแห้ง ลูกสมออ่อน ลูกสมอแก่ ตัวยาบางอย่างต้องแปรสภาพก่อน จึงจะใช้ผสมยาได้ เช่น หอยมุก บัลลังก์ศิลา (ปะการังแดง) กระดูก เขี้ยว เขา หากยังไม่แปรสภาพ สรรพคุณจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ตัวยาบางอย่างมีฤทธิ์แรง ก็ต้อง "ฆ่า" ฤทธิ์เสียก่อน เช่น เมล็ดสลอด ยางสลัดได ชะมดเช็ด ทั้งนี้วิธีการแปรสภาพ หรือ "ฆ่า" ตัวยาที่มีฤทธิ์แรงนั้น มีวิธีทำที่แตกต่างกันไป
ข. พิจารณาขนาดของตัวยา
ต้อง ทราบว่าในตำรับนั้นให้ใช้ตัวยาในปริมาณสิ่งละเท่าใด โดยโบราณกำหนดไว้เป็นมาตราน้ำหนัก ได้แก่ ชั่ง (๑ ชั่ง เท่ากับ ๒๐ ตำลึง คิดเป็นน้ำหนักในมาตราเมตริก ๑,๒๑๖ กรัม) ตำลึง (๑ ตำลึง เท่ากับ ๔ บาท) และบาท (๑ บาท เท่ากับ ๔ สลึง คิดเป็นน้ำหนัก ในมาตราเมตริก ๑๕ กรัม) หรือเป็นมาตราตวง ซึ่งหน่วยที่ใช้มากในตำราพระโอสถพระนารายณ์คือ "ทะนาน" โดยทั่วไปปริมาตร "๑ ทะนาน" เท่ากับปริมาตรของกะโหลก (มะพร้าว) ที่บรรจุเบี้ย (ที่ใช้เป็นเงินตรา) ได้เต็มตามจำนวนที่กำหนด เช่น "ทะนาน ๕๐๐" เป็นปริมาณที่บรรจุเบี้ยได้ ๕๐๐ เบี้ย "ทะนาน ๘๐๐" เป็นปริมาณที่บรรจุเบี้ยได้ ๘๐๐ เบี้ย โดยทั่วไป ปริมาตรที่นิยมใช้กันมาก ในสมัยโบราณ คือ "ทะนาน ๕๐๐" นอกจากนั้นหากในตำรับยาไม่ได้ระบุขนาดของตัวยาแต่ละตัวไว้ ก็ให้ถือว่า ใช้ขนาดเท่ากัน (โบราณเรียก "เสมอภาค")
ค. พิจารณาวิธีการปรุงยา
วิธี การปรุงยาตามแบบแผนไทยโบราณนั้น ตามตำราเวชศึกษา อาจแบ่งเป็นวิธีต่างๆ ได้ ๓ แบบ คือ แบบที่แบ่งเป็น ๒๓ วิธี แบบที่แบ่งเป็น ๒๔ วิธี และแบบที่แบ่งเป็น ๒๕ วิธี
วิธีปรุงยาแบบ ๒๓ วิธี ได้แก่
(๑) ยาตำเป็นผงแล้ว ปั้นเป็นลูกกลอนกิน
(๒) ยาตำเป็นผงแล้ว บดให้ละเอียดละลายน้ำกระสายต่างๆ กิน
(๓) ยาสับเป็นท่อนเป็นชิ้น บรรจุลงในหม้อ เติมน้ำ ต้ม รินแต่น้ำกิน
(๔) ยาดอง แช่ด้วยน้ำท่าหรือน้ำสุรา แล้วรินแต่น้ำกิน
(๕) ยาแช่กัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์ แล้วหยดลงเติมน้ำตามส่วน ดื่มกิน
(๖) ยาเผาให้เป็นด่าง เอาด่างแช่น้ำไว้ แล้วรินแต่น้ำด่างนั้นกิน
(๗) ยาเผาหรือสุมไฟให้ไหม้ตำเป็นผง บดให้ละเอียด ละลายน้ำกิน
(๘) ยากลั่นเอาน้ำเหงื่อ แล้วเอาน้ำเหงื่อนั้นกิน
(๙) ยาประสมแล้ว ห่อผ้าหรือบรรจุลงในกลัก เอาไว้ใช้ดม
(๑๐) ยาประสมแล้ว ตำเป็นผง กวนให้ละเอียด ใส่กล้อง เป่าทางจมูกและในคอ
(๑๑) ยาหุงด้วยน้ำมัน เอาน้ำมันใส่กล้อง เป่าที่บาดแผล
(๑๒) ยาประสมแล้ว ติดไฟ ใช้ควัน ใส่กล้อง เป่าบาดแผลและฐานฝี
(๑๓) ยาประสมแล้วมวนเป็นบุหรี่ หรือยัดกล้องสูบ สูบเอาควัน
(๑๔) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำอมหรือบ้วนปาก
(๑๕) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำอาบ
(๑๖) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำแช่
(๑๗) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำชะ
(๑๘) ยาประสมแล้ว ต้มเอาไอรม
(๑๙) ยาประสมแล้ว ใช้เป็นยาสุม
(๒๐) ยาประสมแล้ว ใช้เป็นยาทา
(๒๑) ยาประสมแล้ว ทำเป็นลูกประคบ
(๒๒) ยาประสมแล้ว ใช้เหน็บทวารหนัก
(๒๓) ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำสวนทวารหนัก
สำหรับวิธีการปรุงยาแบบ ๒๔ วิธีนั้น เพิ่ม "ยาพอก" เข้ามาเป็นวิธีที่ ๒๔ ยาพอกนั้นเตรียมได้โดยการเอาตัวยาต่างๆ มาประสมกัน แล้วตำให้แหลก พอกไว้บริเวณที่ต้องการ ส่วนตำราที่ให้วิธีการปรุงยาแบบโบราณเป็น ๒๕ วิธีนั้น เพิ่ม "ยากวาด" เข้ามาเป็นวิธีที่ ๒๕
โดย สรุปแล้ว แพทย์แผนไทยต้องมีความรู้ในหลักวิชาเภสัชกรรมไทย ซึ่งครอบคลุมความรู้ทั้ง ๔ ด้าน คือ เภสัชวัตถุ สรรพคุณเภสัช คณาเภสัช และเภสัชกรรม จึงจะปรุงยาที่มีคุณภาพดี มีประสิทธิผล และปลอดภัย
จาก โครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่มา : http://health4friends.lnwshop.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น