วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สมุนไพรบำรุงนํ้านมแม่

อาหารสมุนไพรบำรุงน้ำนม

ใบกะเพรา Ocimum sanctum L.
คุณค่า 
มีธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส เส้นใยอาหารสูง 
สรรพคุณ ความร้อนจากใบกะเพราช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หวัด คลื่นไส้ อาเจียน ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น ยิ่งถ้าเด็กได้รับจากนมแม่ ก็จะช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อในเด็กด้วย ในอินโดนีเซียใช้ใบกะเพราปรุงอาหารกินเพื่อขับน้ำนมเช่นกัน
อาหารแนะนำ แกงเลียง (ใส่ใบกะเพรา) ผัดกะเพรา แกงป่าหรือผัดเผ็ดต่างๆ นอกจากได้สรรพคุณทางยาแล้ว ในใบกะเพรายังมีกลิ่นหอมช่วยดับกลิ่นและรสคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี 

กุยช่าย Allium tuberosum Roxb.
คุณค่า 
แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก คาร์โบไฮเดรต บีตาแคโรทีน วิตามินซี 
สรรพคุณ ช่วยขับน้ำนม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม 
อาหารแนะนำ นำส่วนดอกมาผัดกับเนื้อสัตว์ หรือนำใบมากินสดแกล้มกับอาหารอื่นๆ แต่ที่นิยมคือ ใส่ผัดไทย

รสร้อนเพิ่มการไหลเวียน และช่วยย่อย
กานพลู Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & S.G.Harrison
คุณค่า น้ำมันที่อยู่ในดอกกานพลู มีส่วนประกอบสำคัญคือยูจีนอล (Eugenol ) 
สรรพคุณ ช่วยขับน้ำนม มีฤทธิ์ช่วยขับน้ำดีเพื่อนำไปย่อยอาหาร ลดอาการบีบตัวของลำไส้บรรเทาอาการแน่น จุกเสียด 
อาหารแนะนำ นำดอกตูมแห้งมา 5-8 ดอก ชงในน้ำเดือด แล้วดื่มแต่น้ำ 

ขิง Zingiber officinale Roscoe
คุณค่า 
มีโปรตีน ไขมัน แคลเซียม วิตามินเอ บีหนึ่ง บีสอง คาร์โบไฮเดรต 
สรรพคุณ ขับลม แก้อาเจียน ช่วยย่อยไขมันได้ดี ลดการบีบตัวของลำไส้ บรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง ขับเหงื่อ เพิ่มการไหลเวียนเลือด ทำให้น้ำนมไหลได้ดี ลดอาการอาเจียน และเชื่อว่าเมื่อคุณแม่กินเข้าไป สรรพคุณที่ดีของขิงจะผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก ทำให้ลูกไม่ปวดท้อง 
อาหารแนะนำ ยำขิง ยำปลาทูใส่ขิง ไก่ผัดขิง มันหรือถั่วเขียวต้มน้ำขิง ไข่หวานน้ำขิงต้มอุ่นๆ โจ๊กใส่ขิง

ใบแมงลัก Ocimum pilosum Willd.
คุณค่า
 มีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี และวิตามินซีสูง 
สรรพคุณ ใบแมงลักมีรสหอมร้อน ทำให้น้ำนมไหลได้ดี ขับลม ขับเหงื่อ 
อาหารแนะนำ ใส่แกงเลียง กินสดแกล้มกับขนมจีน หรือใส่แกงป่าต่างๆ

พริกไทย Piper nigrum Linn.
คุณค่า มีน้ำมันหอมระเหย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต 
สรรพคุณ มีรสร้อน ทำให้น้ำนมไหลได้ดี ขับลม ขับเหงื่อ 
อาหารแนะนำ ใส่ในแกงเลียง

อาหารสมุนไพรบำรุงน้ำนมที่อุดมไปด้วยสารอาหาร
หัวปลี
คุณค่า
 อุดมไปด้วยแคลเซียม (มากกว่ากล้วยสุกถึง 4 เท่า) โปรตีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินซี บีตาแคโรทีน 
สรรพคุณ แก้โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้ บำรุงเลือด ตั้งแต่โบราณสอนกันต่อๆมาว่าผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ๆ ให้กินหัวปลีมากๆ จะได้มีน้ำนมให้เลี้ยงลูกนานๆ 
อาหารแนะนำ แกงเลียงหัวปลี ยำหัวปลี ลวกจิ้มน้ำพริก (เวลาลวกให้ใส่เกลือและน้ำตาลลงในน้ำที่ต้มด้วย จะได้ลดความฝาด) ทอดมันหัวปลี หัวปลีชุบแป้งทอด

มะละกอ Carica papaya L.
คุณค่า 
มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง ฟอสฟอรัส วิตามินเอ บี ซี และมีเอนไซม์ที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย รวมถึงมีเส้นใยอาหารในปริมาณมาก 
สรรพคุณ ช่วยขับน้ำนม บำรุงเลือด บำรุงกระดูก สายตา ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด 
อาหารแนะนำ กินผลไม้สุกเป็นผลไม้ หรือถ้าแบบดิบ มักจะนำมาใส่แกงส้ม

ฟักทอง Cucurbita pepo L.
คุณค่า ฟักทองมีสารอาหารสำคัญเพื่อบำรุงร่างกายจำนวนมาก ทั้งวิตามินเอ บี ซี ฟอสฟอรัส บีตาแคโรทีน 
สรรพคุณ ช่วยขับน้ำนม ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณสดใส และอาจจะช่วยให้หน้าท้องลายน้อยลง 
อาหารแนะนำ ฟักทองผัดไข่ แกงเลียง ฟักทองนึ่ง แกงบวดฟักทอง ไข่เจียวฟักทอง

มะรุม Moringa Oleifera Lam.
คุณค่า
 ใบมะรุมมีวิตามินซีสูงกว่าส้ม 7 เท่า มีแคลเซียมสูงกว่านม 4 เท่า มีวิตามินเอสูงกว่าแครอต 4 เท่า มีโพแทสเซียมสูงกว่ากล้วย 3 เท่า มีโปรตีนสูงกว่านม 2 เท่า
สรรพคุณ มะรุมมีสารอาหารที่ดีมากสำหรับมารดา และทารก มะรุมถูกนำมาใช้รักษาโรคขาดสารอาหารในเด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบ ในกรณีของเด็กแรกเกิดการให้มะรุมทำได้ดีที่สุดโดยผ่านทางน้ำนมมารดาที่กินใบมะรุมอย่างสม่ำเสมอ 
สารอาหารสำคัญจะผ่านสู่ทารกได้โดยง่าย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มแคลเซียมเข้าไปเสริมกระดูกมารดาได้เป็นอย่างดี ใบและดอกของมะรุมมีสรรพคุณในการขับน้ำนม ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษายืนยันฤทธิ์ในการขับน้ำนมของมะรุมแล้ว
อาหารแนะนำ แกงส้มใบหรือดอกมะรุม

ตำลึง Coccinia indica Wight & Arn.
คุณค่า มีโปรตีน มีวิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง วิตามินบีสาม วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก เส้นใยอาหารในปริมาณมาก 
สรรพคุณ ช่วยบำรุงน้ำนม ทำให้น้ำนมมีมาก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก บำรุง สายตา บำรุงผม บำรุงประสาท
อาหารแนะนำ แกงเลียงตำลึง หรือแกงกะทิลูกตำลึง

เมล็ดขนุน Aryocarpus hetertophyllus Lamk.

คุณค่า มีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินบีหนึ่ง ฟอสฟอรัส เหล็ก 
สรรพคุณ ช่วยบำรุงน้ำนม ทำให้น้ำนมมีมาก บำรุงประสาท 
อาหารแนะนำ เอาเม็ดขนุนต้มกินเป็นขนมทุกวันกินจนอิ่มวันละ 1 ครั้งกิน 7-10 วัน 

พุทรา Zizyphus mauritiana Lamk.
คุณค่า 
มีวิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง วิตามินบีสาม วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก เส้นใยอาหารในปริมาณมาก 
สรรพคุณ ช่วยบำรุงน้ำนม บำรุงประสาทและสมอง 
อาหารแนะนำ เอาลูกพุทราต้มให้เดือด 10 นาที แล้วเอาน้ำมาดื่มจะทำให้มีน้ำนมมาก 

พืชผักผลไม้ ชนิดต่างๆ ที่กล่าว สังเกตให้ดีๆ จะเห็นว่า พืชผักที่คนโบราณบอกให้กินเพื่อเรียกน้ำนมนั้น ส่วนใหญ่มีฤทธิ์ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดี ช่วยขับลมในกระเพาะ ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารเป็นไปอย่างปกติ และเป็นสมุนไพรที่ประกอบไปด้วยไขมัน โปรตีน แร่ธาตุที่สำคัญอย่าง แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็ก 

นอกจากสมุนไพรที่เป็นอาหารดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิดที่ได้ถูกนำมาให้แม่กินหลังคลอดเพื่อบำรุงน้ำนม เช่น

กรดน้ำ Scoparia dulcis L. 
คนไทยใหญ่นิยมใช้ต้นสด 1 กำมือ ต้มกินหลังคลอด เพื่อให้มารดาแข็งแรงและมีน้ำนมดี

มะขาม Tamarinus indica Linn.
 
คนไทยโบราณนิยมใช้กิ่งหรือต้นมะขามเป็นยาบำรุงน้ำนมและยาอาบหลังคลอด ในการใช้ใช้เป็นยาบำรุงน้ำนมนั้น จะใช้กิ่งหรือต้นมะขาม 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 4 แก้วต้มเดือดนาน 10-15 นาที กินวันละ 4-8 ครั้งๆ ละ 1-2 แก้ว หรือกินได้ทั้งวันต่างน้ำวันละ 6-8 แก้ว กินขณะอุ่นๆ มีรสหวานกินง่าย กินติดต่อกันนาน 1 เดือน และถ้าต้มอาบด้วยจะช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้น

เขยตายแม่ยายชักปรก Glycosmis cochinchinensi Pierre. 

ใช้รากเขยตายต้มน้ำดื่มกินหลังคลอดจะทำให้มารดามีน้ำนมมาก 

นมสาว นมนาง
Xantolis cambodiana (Pierre ex Dubarb) P. Royen 

ตำรับยาสมุนไพรอีสาน นิยมใช้ต้นนมสาวในสตรีที่คลอดบุตรแล้ว ไม่สามารถให้นมบุตรได้เนื่องจากไม่มีน้ำนม ให้ตัดลำต้นหรือกิ่ง หรือราก แล้วผ่าเป็นชิ้นมาต้มให้กิน ทำให้เพิ่มการหลั่งน้ำนมและเพิ่มน้ำหนักต่อมน้ำนม กินไปสักระยะหนึ่ง จะสังเกตเห็นเต้านมที่โตขึ้นและมีน้ำนมผลิตออกมา

น้ำนมราชสีห์ Euphorbia hirta L. 
เป็นสมุนไพรที่คนสมัยก่อนใช้ต้มน้ำให้ผู้หญิงที่มีน้ำนมน้อยกิน ทำให้มีน้ำนมมากขึ้น โดยใช้ต้นสด 30-60 กรัม (ต้นแห้ง 6-10 กรัม) ต้มกิน

ในการใช้สมุนไพรเพื่อบำรุงน้ำนมนั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้น้อยลงจากการที่ไม่มีการศึกษาวิจัย และผู้รู้เรื่องการใช้สมุนไพรก็มีน้อยลง สมุนไพรก็หายากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสมุนไพรเหล่านั้นยังมีคุณค่าที่จะให้ผู้คนในสังคมรับรู้เพื่อทำการศึกษาวิจัยต่อไป 
ที่มา นิตยสารหมอชาวบ้าน 355
/http://health4friends.lnwshop.com/
รูปประกอบ จากอินเตอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น