วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การผดุงครรภ์ไทย

การผดุงครรภ์ไทย

การ ผดุงครรภ์ไทย หรือการผดุงครรภ์แผนโบราณ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ในหลักวิชาการแพทย์แผนไทย เกี่ยวกับการดูแลมารดาและทารก ตั้งแต่ระยะเริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด ดังนั้น แพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณ หรือที่เรียกกันว่า หมอตำแย จึงมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแล แก้ไข ป้องกันอาการต่างๆ ของผู้หญิง ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จนครบกำหนดคลอด ทำหน้าที่ทำคลอด ตลอดจนดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอด ทารกแรกเกิด ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย

แพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณต้องมีความรู้ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสตรี เมื่อเริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด การทำคลอด และการดูแลมารดาและทารกหลังคลอด หลักวิชาการแพทย์แผนไทยมีรายละเอียดทั้งหมดในคัมภีร์ปฐมจินดา และบางตอนของคัมภีร์มหาโชติรัต โดยเฉพาะในคัมภีร์ปฐมจินดา มีรายละเอียดของการตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด และโรคต่างๆ อันอาจเกิดกับทารก ที่คลอดออกมา จะขอกล่าวพอสังเขป เพียง ๒ เรื่อง ดังนี้

๑. การปฏิสนธิ การตั้งครรภ์ และการคลอด   

หลัก วิชาการแพทย์แผนไทยอธิบายว่า สตรีนั้นตั้งแต่กำเนิดมาจากครรภ์มารดา มีความแตกต่างจากเพศชายในเชิงสรีระอยู่ ๔ ประการ คือ มีถันประโยธร (เต้านม) จริตกิริยา (การแสดงออกของร่างกาย) ที่ประเวณี (ช่องคลอด) และต่อมโลหิตระดู (มดลูก)

ผู้เป็นแพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณ จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องกายวิภาค และสรีระของสตรีเป็นอย่างดี จึงจะรู้ และเข้าใจในหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทย โดยอาจแบ่งออกเป็นความรู้ในสิ่งต่างๆ คือ

ก. ครรภ์วาระกำเนิด

หมาย ถึง การตั้งครรภ์ เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิ ไปจนถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เมื่อสตรีเริ่มตั้งครรภ์ จะมีความเปลี่ยนแปลงทางกายที่แสดงว่าตั้งครรภ์ อันได้แก่ เส้นเอ็นที่ผ่านหน้าอกนั้นมีสีเขียวเห็นได้ชัดเจนขึ้น หัวนมสีดำคล้ำขึ้น และมีเม็ดขึ้นรอบๆ หัวนม

สำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฐมจินดาตอนหนึ่งว่า

"...ครรภ์ ตั้งขึ้นแล้วมิได้วิปริต ครบ ๗ วัน ก็ข้นเข้าดังน้ำล้างเนื้อ เมื่อไปอีก ๗ วันเป็นชิ้นเนื้อ ไปอีก ๗ วันเป็นสัณฐานดังไข่งู ไปอีก ๗ วัน ก็แตกออกเป็นปัญจสาขา ๕ แห่ง คือ ศีร์ษะ มือ และเท้า ไปอีก ๗ วันก็เกิดเกษา โลมา นขา ทันตา ลำดับกันไปดังนี้ ในขณะเมื่อครรภ์ตั้งขึ้นได้ ๑ เดือน กับ ๑๒ วันนั้น โลหิตจึงบังเกิดเวียนเข้าเป็นตานกยูง ที่หัวใจเป็นเครื่องรับดวงจิตรวิญญาณ ถ้าหญิงเวียนซ้าย ถ้าชายเวียนขวา แต่มิได้ปรากฏออกมา ครั้นเมื่อครรภ์ถ้วนไตรมาสแล้ว โลหิตนั้นก็แตกออกไปตามปัญจสาขา เมื่อได้ ๔ เดือน จึ่งตั้งอาการครบ ๓๒ นั้น จึ่งบังเกิดตาแลหน้าผากก่อน สิ่งทั้งปวงจึ่งบังเกิดเป็นลำดับกันไป เมื่อครรภ์ได้ ๕ เดือน จึ่งมีจิตรแลเบ็ญจขันธ์..."

ข. ครรภ์รักษา


หมาย ถึง ความเจ็บป่วยไม่สบาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับสตรีในระหว่างการตั้งครรภ์ ตั้งแต่เดือนแรกถึงเดือนที่สิบ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้การตั้งครรภ์นั้นตกไปได้ คัมภีร์ปฐมจินดาให้รายละเอียดเกี่ยวกับไข้หรืออาการต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้น ในระหว่างตั้งครรภ์เดือนแรก จนถึงเดือนสุดท้ายไว้ ดังความตอนที่ว่าด้วยความเจ็บป่วย อันอาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์เดือนแรกคือ

"...ถ้า สัตรีมีครรภ์ได้เดือน ๑ ก็ดี ถ้าไข้รำเพรำพัด คือ ให้รากให้จุกในอุทรแลให้แดกขึ้นแลแดกลงเปนกำลัง แลให้ละเมอเพ้อพกดังผีเข้า..."

ในคัมภีร์เล่มเดียวกันนั้น ได้ให้ยาสำหรับแก้ความเจ็บป่วยไม่สบายที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เพื่อรักษาครรภ์มิให้ตกไป

ค. ครรภ์วิปลาส

หมายถึง การตั้งครรภ์ที่ตกไป หรือบางตำราว่า หมายถึง การแท้งลูก ซึ่งตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยว่า อาจเกิดจากสาเหตุ ๔ ประการ คือ 

(๑) สตรีมีความต้องการทางเพศสูง
(๒) กินของแสลง
(๓) โกรธจัด โมโหร้าย ปากจัด
(๔) ถูกกระทำโดยภูตผีหรือต้องคุณไสย

ง. ครรภ์ปริมณฑล

หมาย ถึง การดูแลพยาบาลสตรีที่ตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ ๓ เดือนเป็นต้นไปจนกระทั่งคลอด คัมภีร์ปฐมจินดาได้ให้ยาแก้ความไม่สบาย หรือไข้ อันอาจเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว จนถึงหลังคลอดแล้วหลายขนาน เช่น ยาแก้โรคบิดในระหว่างตั้งครรภ์ ยาแก้พรรดึก (ท้องผูก ก้อนอุจจาระแข็งเหมือนขี้แพะ) ยาแก้ทารกในท้องดิ้น ยาแก้คลอดลูกยาก ยาแก้หญิงคลอดลูกแล้วมดลูกไม่เข้าอู่ ยาแก้หญิงคลอดลูกแล้วรกขาดในครรภ์

จ. ครรภ์ประสูติ

หมาย ถึง การคลอดลูก การดูแลช่วยเหลือมารดาขณะคลอด รวมถึงการดูแลทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๑๒ เดือน คัมภีร์ปฐมจินดา ได้อธิบายการคลอดลูกไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังนี้

"...ตั้งแต่ อยู่ในครรภ์นั้น ตราบเท่าถ้วนทศมาศ คือ ๑๐ เดือนเป็นกำหนด ตามธรรมดาประเพณี ยังมีลมจำพวกหนึ่งชื่อว่า กัมมัชชวาต ก็บังเกิดพัดกำเริบแห่งเส้นแลเอ็นที่รัดรึงตัวกุมารนั้นไว้ ก็ให้กลับเอาศีร์ษะลงเบื้องต่ำ ฤกษ ยามดีแล้ว กุมารแลกุมารีทั้งหลายนั้น ก็คลอดออกจากครรภ์แห่งมารดานั้น..."

ช่วงเวลาที่ทารกคลอดออกจากครรภ์มารดา ซึ่งถือเป็นฤกษ์ยามดีนั้น โบราณเรียกว่า "(เวลา) ตกฟาก" เมื่อคลอดแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือ และห่อสายสะดือไว้ ส่วนรกจะใส่ภาชนะ แล้วนำไปฝัง

๒. การบริบาลสตรีหลังคลอด

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งในหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทย คือ การดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดด้วยการ "อยู่ไฟ" โบราณเชื่อว่า ในระยะหลังคลอดใหม่ๆ ทั้งทารกและมารดาอาจเกิดอันตรายได้ง่าย จึงให้มารดาหลังคลอดอยู่ไฟ เชื่อว่า ความร้อนเป็นสิ่งบริสุทธิ์ สามารถเผาผลาญสิ่งที่เป็นโทษได้ การอยู่ไฟจะช่วยให้เลือดลมของมารดาหลังคลอดไหลเวียนดีขึ้น ลดการเกร็งและปวดเมื่อย ของกล้ามเนื้อ ช่วยให้แผลฝีเย็บหายเร็วขึ้น ช่วยลดอาการปวด อันเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก และอาการเจ็บปวดจากการคัดเต้านม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี โบราณเรียกช่วงเวลาในการอยู่ไฟว่า "เขตเรือนไฟ" ผู้หญิงไทยสมัยโบราณนิยมอยู่ไฟ ๗ วันหลังคลอดท้องแรก แต่หลังคลอดท้องที่ ๒, ๓ และ ๔ อาจอยู่ไฟนานขึ้น ๘ - ๒๐ วัน ทั้งนี้ระยะเวลาของการอยู่ไฟ จำนวนวัน นิยมเป็นเลขคี่ เพราะถือเป็นเลขสิริมงคลกับมารดาหลังคลอด

หลังคลอด ๒ - ๓ วัน จะมีน้ำเหลืองออกจากแผลรก ซึ่งโบราณเรียกว่า "น้ำคาวปลา" เพราะ มีกลิ่นคาวจัด น้ำคาวปลาจะออกมากราว ๑๐ วัน หลังจากนั้น ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเมื่อแผลรกหาย ก็หยุดไป บางคนอาจมีน้ำคาวปลาอยู่นานถึง ๑ เดือน ดังนั้นหลังคลอด แพทย์แผนไทยมักให้มารดากินยาขับน้ำคาวปลา และยาระบาย เพื่อขับล้างเอาของเสีย และสิ่งเน่าเสีย อันเกิดจากการคลอดบุตร ออกไปจากร่างกายของมารดาหลังคลอด นอกจากนั้นในช่วงดังกล่าวจะต้องดูแลสุขอนามัยช่องคลอดให้สะอาด ไม่ให้น้ำคาวปลาหมักหมม จนทำให้เกิดการติดเชื้อ ที่เรียกว่า "สันนิบาตหน้าเพลิง" ซึ่งหมายถึง ไข้ที่เกิดในเขตเรือนไฟ

หลัก วิชาการผดุงครรภ์แผนไทยแนะนำว่า มารดาหลังคลอดควรอาบน้ำสมุนไพร หรืออบสมุนไพร เพื่อชำระร่างกายให้สะอาด สดชื่น ดับกลิ่นคาวเลือด ช่วยให้มดลูกกลับเข้าสู่สภาพเดิมเร็วขึ้น และขับน้ำคาวปลา เริ่มต้นด้วยการอาบน้ำร้อนที่ต้มกับใบมะขาม ฝักส้มป่อย และหัวหอม หลังเช็ดตัวให้สะอาดแล้ว จึงใช้ลูกประคบที่ใช้ไพลผสมกับการบูรกดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อแก้อาการปวดเมื่อย อันเกิดจากการคลอดลูก ช่วยขับเหงื่อ และการประคบบริเวณหัวนม เพื่อช่วยเพิ่มน้ำนม และทำให้น้ำนมไหลดีขึ้น

การ อยู่ไฟหลังคลอด จะช่วยให้ท้องอุ่นอยู่เสมอ บรรเทาอาการปวดมดลูก และช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว คนโบราณนิยมใช้ความร้อนจากฟืนไม้สะแกนา เพราะเป็นไม้พื้นบ้าน หาง่าย ติดไฟแล้วคุดี มอดช้า ไม่เปลือง ความร้อนที่ใช้ในการอยู่ไฟอาจได้จากการทับหม้อเกลือ (หรือการนาบหม้อเกลือ) ซึ่งเป็นการให้ความร้อนแก่เกลือที่บรรจุอยู่ในหม้อดิน ห่อด้วยใบพลับพลึงและผ้าขาว แล้วใช้กดหรือนาบตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณท้องและต้นขา การใช้ความร้อน จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา และช่วยลดอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อจากการคลอดบุตร หรืออาจใช้วิธีการนั่งถ่าน โดยอาจใช้ตัวยาสมุนไพรเผาเอาควันรมร่วมด้วย สมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ ผิวมะกรูดแห้ง ว่านน้ำ ว่านนางคำ ขมิ้นอ้อย ชานหมาก ไพล เปลือกต้นชะลูด ผงขมิ้นชัน และใบหมาก วิธีหลังนี้เป็นการใช้ความร้อน เพื่อช่วยให้แผลแห้งเร็ว และยังช่วยสมานแผลจากการคลอด นอกจากนั้นยังอาจใช้ยาช่วย เช่น  ยาช่วยให้มดลูกเข้าอู่ (กลับเข้าที่เดิม หรือกลับสู่สภาพเดิม) ยาบำรุงน้ำนม โดยในเขตเรือนไฟนั้น คนโบราณห้ามกินของแสลง เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี

การนั่งถ่าน
การนั่งถ่าน

อุปกรณ์การนั่งถ่าน
อุปกรณ์การนั่งถ่าน

จาก โครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่มา :  http://health4friends.lnwshop.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น